สรรพคุณตะโก
ตะโกนา
ตะโกนา ชื่อสามัญ Ebonyตะโกนา ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros rhodocalyx Kurz จัดอยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE)
สมุนไพรตะโกนา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะถ่านไฟผี (เชียงใหม่), นมงัว (นครราชสีมา), ตะโก มะโก พญาช้างดำ พระยาช้างดำ (ภาคเหนือ), โก (ภาคอีสาน), ตองโก (เขมร) เป็นต้น
ลักษณะของตะโกนา
ต้นตะโกนา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก รูปทรงพุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีดำ แตกเป็นร่องลึกเป็นสะเก็ดหนา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักเนื่องจากเติบโตได้ช้า) การตอนกิ่ง หรือการขุดล้อมเอามาจากธรรมชาติ เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการแสงแดดแบบเต็มวัน มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี โดยพบว่ามีเขตการกระจายพันธุ์จากพม่าจนถึงภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบขึ้นได้ทุกภาคตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าละเมาะ และตามทุ่งนา ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 40-300 เมตรใบตะโกนา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม รูปไข่กลับ หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนกลาย ๆ และรูปป้อม ปลายใบมนมีติ่งสั้นหรือมีรอยหยักเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือป้าน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน มีเส้นแขนงของใบประมาณ 5-8 คู่ เส้นอ่อนคดไปมามองเห็นได้ทางด้านหลังใบและขึ้นเด่นชัดทางด้านท้องใบ เส้นร่างแหพอสังเกตเห็นได้ทั้งสองด้าน ส่วนเส้นกลางใบออกเป็นสีแดงเรื่อ ๆ และก้านใบสั้นยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร
- ดอกตะโกนา ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามกิ่งหรือตามง่ามใบ ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 3 ดอก ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ก้านดอกยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม โดยกลีบดอกจะยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำหรือรูปป้อง ๆ ปลายแยกออกเป็นแฉกเล็ก ๆ เกลี้ยงเกลาทั้งสองด้าน ส่วนกลีบรองดอกยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ด้านนอกมีขนนุ่ม ส่วนด้านในมีขนยาว ๆ แน่น ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 14-16 ก้าน มีขนแข็ง ๆ แซม รังไข่เทียมมีขนแน่น ส่วนดอกเพศเมียจะออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจะเหมือนกับดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า ก้านดอกยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร รังไข่มีลักษณะป้อม มีขนเป็นเส้นไหมคลุม ภายในแบ่งเป็นช่อง 4 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีไข่อ่อนหนึ่งหน่วย ส่วนหลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียวและมีขนแน่น ปลายหลอดแยกเป็นแฉก 2 แฉก มีเกสรเพศผู้เทียมประมาณ 8-10 ก้าน มีขนแข็ง ๆ แซมอยู่ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3],[12]
- ผลตะโกนา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.2-2.4 เซนติเมตร (บ้างว่าประมาณ 3 เซนติเมตร) ผิวผลเรียบ ผลอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคลุมอยู่หนาแน่น ซึ่งขนเหล่านี้มักหลุดร่วงได้ง่าย ส่วนปลายผลและโคนผลมักบุ๋ม กลีบจุกผลชี้ออกหรือแนบลู่ไปตามผิวของผล ข้างในมีขนสีน้ำตาลแดงและมีขนนุ่มทางด้านนอกพื้นกลีบและขอบกลีบมักเป็นคลื่น เส้นสายกลีบพอเห็นได้ชัด ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือแดงปนส้ม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 3-5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่รีหรือแบน เมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีเนื้อหุ้มสีขาวและฉ่ำน้ำ มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลสั้นมาก มีความยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3],[4],[12]
สรรพคุณของตะโกนา
- เปลือกต้นหรือแก่นใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้มีอายุยืนยาว (แก่น, เปลือกต้น)ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้นตะโกนา เถาบอระเพ็ด ผสมกับเปลือกทิ้งถ่อน เมล็ดข่อ ผลพริกไทยแห้ง และหัวแห้วหมู อย่างละเท่ากันนำมาต้มกับน้ำดื่มหรือดองกับเหล้าดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ (เปลือกต้น)
- แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น, เปลือกต้น)
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นชาช่วยบำรุงกำลัง (แก่น, เปลือกต้น) บำรุงร่างกาย (เปลือก)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือก)
- แก่นและเปลือกใช้เข้ายารักษามะเร็ง (แก่น, เปลือก)
- ผลนำมาตากแดด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กษัย (ผล) บ้างว่าใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)
- ช่วยแก้โรคผอมแห้งหลังการคลอดบุตรเนื่องมาจากอยู่ไฟไม่ได้ (ราก)
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ (ผล) แก้อาเจียนเป็นโลหิต (ผล)
- ต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ (ต้น)
- ราก ต้น และแก่นเป็นยาแก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ จากการกินของแสลงที่เป็นพิษ (ราก, ต้น, แก่น)
- ช่วยแก้พิษผิดสำแดง (ต้น)
- เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นชาช่วยแก้อาการร้อนในได้ (เปลือกต้น) บ้างว่าใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)
- เปลือกต้นหรือแก่นนำมาต้มกับเกลือใช้อมรักษาโรครำมะนาดหรือโรคปริทันต์ (โรคที่มีอาการอักเสบของอวัยวะรอบ ๆ ฟัน) (แก่น, เปลือกต้น)
- เปลือกต้นหรือแก่นนำมาต้มกับเกลือใช้อมแก้อาการปวดฟัน (แก่น, เปลือกต้น)
- ผลมีรสฝาดหวาน ช่วยแก้อาการมวนท้อง (ผล)
- ผลเอามาตากแดด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย (ผล) ส่วนเปลือกผลใช้แก้อาการท้องร่วง (เปลือกผล) แก้บิดบวมเป่ง (ผล)
- ช่วยขับน้ำย่อย ช่วยในการย่อยอาหาร (แก่น, เปลือกต้น)
- ใช้เป็นยาแก้พยาธิ ขับพยาธิ (ใช้ผลต้มกับน้ำดื่ม)
- เปลือกผลนำมาเผาจนเป็นถ่าน ใช้แช่กับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกผลเปลือกต้น, แก่น)
- แก่นหรือเปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคกามตายด้าน บำรุงความกำหนัด เพิ่มพลังทางเพศ กระตุ้นร่างกายให้สดชื่นแข็งแรง (แก่น, เปลือกต้น)
- เปลือกผลนำมาเผาจนเป็นถ่าน ใช้แช่กับน้ำกินเป็นยาขับระดูขาวของสตรี ส่วนเปลือกต้นหรือแก่นก็ขับมุตกิดระดูขาวได้ด้วยเช่นกัน (แก่น, เปลือกต้น, เปลือกผล)บ้างว่าผลก็เป็นยาขับระดูขาวเช่นกัน (ผล)
- ผลช่วยแก้อาการปวดมดลูก (ผล)
- แก้ตกเลือด (ผล)
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไตพิการ น้ำเหลืองเสีย (ราก)
- ผลใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง (ผล)
- ต้นช่วยแก้ผื่นคัน (ต้น) ผลช่วยแก้ตุ่มคันเป็นเม็ดผื่นคันตามตัว (ผล)
- ผลใช้เป็นยาเย็นถอนพิษ (ผล)
- ผลใช้เป็นยาแก้แผล สมานแผล ช่วยแก้แผลเน่าเปื่อย ฝีเน่าเปื่อย ช่วยปิดธาตุ (ผล)
- ช่วยแก้บวม ฝีบวม (ผล)
- รากตะโกนาใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้โรคเหน็บชา อาการปวดเมื่อย อ่อนเพลีย (ราก) ส่วนตำรับยาพื้นบ้านของอีสานนั้นจะใช้รากตะโกผสมกับรากมะเฟืองเปรี้ยว รากเครือปลาสงแดง และรากตีนนก นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย
- รากและต้นช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี (ราก, ต้น)
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตะโกนา
- สารสำคัญของตะโกนา ได้แก่ Betulin, Betulinic acid, B-sitosterol, Lupenone, Lupeol, Stigmast-4-en-3-one, Stigmast4-en-3-one 1 –O-ethyl-B-D-glucopyrahoside, Stigmast-4-en-3-one 1-O-ethyl-B-D-glucoside, Stigmasterol, Taraxerol, Taraxerol acetate, และ Taraxerone.
- ตะโกนามีฤทธิ์กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ โดยออกฤทธิ์เหมือนฮิสตามีน ยับยั้งเอนไซม์ Reverse Transcriptase
ประโยชน์ของตะโกนา
- ผลสุกของตะโกนาสามารถใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานฝาดบ้างว่านำผลมารับประทานโดยนำมาทำเหมือนกับส้มตำ โดยคุณค่าทางโภชนาการของผลตะโกนาต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 99 แคลอรี, คาร์โบไฮเดรต 24.5 กรัม, น้ำ 73.6 กรัม, เส้นใย 1.5 กรัม, โปรตีน 0.3 กรัม, วิตามินบี 2 1.37 มิลลิกรัม, วิตามินซี 79 มิลลิกรัม, ธาตุแคลเซียม 19 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.4 มิลลิกรัม และธาตุฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม
- ต้นตะโกจะออกผลดกทุกปี จึงเป็นอาหารให้แก่สัตว์ได้จำนวนมาก
- ผลอ่อนหรือผลดิบใช้สำหรับย้อมสีผ้า แห อวน มาตั้งแต่โบราณ โดยสีที่ได้คือสีน้ำตาล แต่คุณภาพจะไม่ดีมากนัก เพราะสีของเส้นไหมจะตกและไม่ทนทานต่อแสง และคุณภาพที่ได้จะไม่ดีเท่ากับมะพลับโดยยางของลูกตะโกที่นำมาละลายน้ำใช้สำหรับการย้อมแหและอวนนั้น จะมีราคาถูกกว่ายางมะพลับ จึงมีพ่อค้าหัวใสนำยางของผลตะโกมาปลอมขายเป็นยางมะพลับ จึงเกิดคำพังเพยที่ว่า “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก”
- เนื้อไม้เป็นสีขาวหรือออกสีน้ำตาลอ่อน มีความแข็งแรง มีความเหนียว เนื้อค่อนข้างละเอียด สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องใช้ เครื่องมือทางการเกษตร เช่น ทำเสา รอด ตง คาน ฯลฯ
- ต้นตะโกเป็นพันธุ์ไม้ที่นิยมปลูกเพื่อใช้นำมาทำไม้ดัดมากที่สุด ใช้ปลูกเพื่อตกแต่งสวนหรือสนามหญ้า เพราะมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ง่ายต่อการเพาะเลี้ยงและบำรุงรักษา
- เนื่องจากต้นตะโกเป็นไม้ที่มีอายุยืน และทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี เชื่อว่าเป็นไม้มงคล หากนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้านทางทิศใต้ จะทำให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านมีความอดทนเหมือนต้นตะโก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น