สรรพคุณของส้มเขียวหวาน


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ส้มเขียวหวาน





ส้มเขียวหวาน

ส้มเขียวหวาน ชื่อสามัญ Mandarin orange, Mandarin, Mandarine, Tangerine
ส้มเขียวหวาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus reticulata Blanco (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Citrus chrysocarpa Lush., Citrus crenatifolia Lush., Citrus crenatifolia var. lycopersiciformis Lush., Citrus deliciosa Ten., Citrus × nobilis var. koozi Sieb. ex Yu.Tanaka, Citrus × nobilis var. papillaris (Blanco) Wester, Citrus papillaris Blanco, Citrus papillaris var. chrysocarpa (Lush.) Alston, Citrus tangerina Yu.Tanaka) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)
ส้มเขียวหวาน มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า มะเขียว มะบาง (เชียงใหม่), ส้มขี้ม้า (นครราชสีมา), ส้มแก้วเกลี้ยง ส้มแก้วโบราณ ส้มจันทบูร ส้มตรังกานู ส้มแป้นกระดาน ส้มแป้นขี้ม้า ส้มแสงทอง (กรุงเทพฯ), ส้มจุก ส้มแป้นเกลี้ยง ส้มแป้นหัวจุก (ปัตตานี), มะขุน มะแง มะจุก ส้มจุก ส้มเชียงตุง (ภาคเหนือ), ส้มเหม็น (ภาคกลาง), ซาโบโค ซ่าซุยโบโข่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลีมากุเละนีปี้ห์ ลีมากุเละลอเก๊าะ (มลายู-ปัตตานี), ลีมาจีนา ลีมายือโบ (มลายู), จวี๋ ชิงผี เฉินผีจวี๋ จวี๋เหอ (จีนกลาง), เปลือกส้มเขียวหวาน, ส้มจีนเปลือกล่อน เป็นต้น

ผู้ที่มีพลังหย่อนหรือร่างกายอ่อนแอ ห้ามรับประทาน (เข้าใจว่าหมายถึงเปลือกผลและเมล็ดที่นำมาใช้เป็นยา)

ลักษณะของส้มเขียวหวาน

  • ต้นส้มเขียวหวาน มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อม มีความสูงของต้นได้ประมาณ 3-5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก กิ่งอ่อนมีหนาม[1],[5]
ต้นส้มเขียวหวาน
  • ใบส้มเขียวหวาน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่มนรี ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือมีฟันเลื่อยเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5.5-8 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมัน เนื้อใบแข็ง มีต่อมน้ำมันอยู่ตามแผ่นใบ[1]
ใบส้มเขียวหวาน
  • ดอกส้มเขียวหวาน ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อบริเวณง่ามใบและปลายยอดกิ่ง มีกาบใบ 5 ใบ มี 5 กลีบ ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาวอมเหลือง ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 18-24 อัน ส่วนเกสรเพศเมียมีประมาณ 3-5 อัน มีรังไข่ 9-15 อัน[1]
ดอกส้มเขียวหวาน
  • ผลส้มเขียวหวาน ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เนื้อนิ่ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซนติเมตร เปลือกนอกเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองแดง ผิวผลเรียบเกลี้ยงและเป็นมัน เปลือกอ่อน ผิวหนา และมีน้ำมันที่เปลือก ภายในมีเนื้อลักษณะฉ่ำน้ำ แบ่งออกเป็นกลีบ ๆ มีสีส้ม แต่ละกลีบจะมีเมล็ดสีขาวอยู่ภายใน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม สีขาวนวล (เปลือกสีเขียวนิยมนำมาตากแห้งใช้เป็นยา มีรสปร่าหอมร้อน)[1],[2],[5]
ผลส้มเขียวหวาน
รูปส้มเขียวหวาน
เนื้อส้มเขียวหวาน

สรรพคุณของส้มเขียวหวาน

  1. เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น (เปลือกผล)[1],[2]
  2. ผลมีสรรพคุณช่วยลดปริมาณของคอเลสเตอรอลในเลือด (ผล)[3]
  3. ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคไข้หวัด (ผล)[3]
  4. ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ (ผล)[3]
  5. ใช้เป็นยาแก้ไอ ช่วยขับเสมหะ (เปลือกผล)[1]
  6. ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นหน้าอก (เปลือกผล)[1]
  7. ช่วยแก้อาการปวดชายโครง (เปลือกผล)[1]
  8. เมล็ดใช้เป็นยาแก้อาการปวดเต้านม เต้านมอักเสบ (เมล็ด)[1]
  9. เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาขับลม แก้อาหารไม่ย่อย ท้องขึ้นท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น (เปลือกผล)[1],[2]
  10. ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารภายในร่างกายเป็นไปอย่างปกติ (ผล)[3]
  11. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (เปลือกผล, เมล็ด)[1]
  12. ช่วยแก้อาการปวดอัณฑะ (เมล็ด)[1]
  13. เปลือกผลใช้เป็นยาขับลมในตับ กล่อมตับ คลายการบีบตัวของตับ (เปลือกผล)[1]
  14. ช่วยป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย (ผล)[3]
  15. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ปวดกระษัยลม (เมล็ด)[1]
  16. เปลือกผลใช้เป็นยารักษาโรคผมร่วง (เปลือกผล)[2]
  17. ตำรายาไทยเปลือกส้มเขียวหวานถูกจัดอยู่ในตำรับยา “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบไปด้วย เปลือกส้มเขียวหวาน, เปลือกส้มจีน, เปลือกส้มซ่า, เปลือกส้มโอ, เปลือกส้มตรังกานู, เปลือกมะงั่ว, เปลือกมะกรูด และเปลือกมะนาวหรือเปลือกส้มโอมือ มีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะโลหะ แก้ลมกองละเอียด กองหยาบ ใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ทางลม (เปลือกส้ม)[2]
  18. ส่วนในบัญชียาสมุนไพร ก็มีปรากฏการใช้เปลือกส้มเขียวหวานในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) โดยปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” ที่มีส่วนปะกอบของเปลือกส้มเขียวหวานอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง และช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น (เปลือกผล)[2]

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คุณประโยชน์มากมายต้องระกำ

สรรพคุณของลูกจันทร์

สรรพคุณของพุทรา